ใบความรู้ที่ 5

ใบความรู้ที่ 5
Asean+3


ASEAN +3




อาเซียน+3 คือ กลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นสมาชิกในอาเซียน 10 ประเทศ และประเทศเพิ่มมา 3 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคเอเชียตะวันออกด้านการเมืองและความมั่นคง ด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเงิน ด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศโลก ด้านสังคมและวัฒนธรรมประเทศจีน


1. ประเทศจีน
ชื่อทางการ : สาธารณรัฐประชาชนจีน  People's Republic of China
เมืองหลวง : ปักกิ่ง(Beijing)
พื้นที่ : 9,640,821 ตร.กม.
ระบบการปกครอง : คอมมิวนิสต์
วันชาติ  : 1 ตุลาคม
ภาษาราชการ : ภาษาจีนกลาง
เวลา : GMT+8เร็วกว่าประเทศไทย 1 ชม.
สกุลเงิน : หยวน (CNY)
ดอกไม้ประจำชาติ : ดอกโบตั๋น(Peony)
อาหารประจำชาติ : ติ่มซำ(Dimsum)
เขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA)

            อาเซียนและจีนได้ลงนามกรอบความตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจอาเซียน-จีน (Framework Agreement on Comprehensive Economic Cooperation) เมื่อวันที่  4 พฤศจิกายน 2545 ณ กรุงพนมเปญประเทศกัมพูชาโดยกรอบความตกลงฉบับนี้ได้กำหนดแนวทางให้แก่อาเซียนและจีนในการเจรจาความตกลงต่างๆ อันนำไปสู่ การจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ASEAN China Free Trade Area : ACFTA) ในปัจจุบันจีนเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของอาเซียน โดยมีมูลค่าการค้าในปี 2553 คิดเป็น 292.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นเป็นสัดส่วนร้อยละ 11.6 ของการค้ารวมอาเซียน สำหรับอาเซียนจัดเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของจีนโดยมีสัดส่วนการค้าเท่ากับร้อยละ 9.98 ของการค้ารวมของจีน นอกจากนี้เขตการค้าเสรีอาเซียน-จีนเป็นตลาดที่มีผู้บริโภคจำนวน 1.92 พันล้านคนซึ่งมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) คิดเป็นมูลค่า 10.09 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (2553) ส่งผลให้กลายเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก

การค้าสินค้า
    ความตกลงด้านการค้าสินค้าเป็นความตกลงหนึ่งภายใต้กรอบความตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจอาเซียน-จีน ซึ่งมีการลงนามเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2547 เพื่อกำหนดรูปแบบการลดและยกเลิกภาษีสำหรับรายการสินค้าที่ต้องเสียภาษีซึ่งแบ่งได้เป็นรายการสินค้าปกติและรายการ

สินค้าอ่อนไหว
     รายการสินค้าปกติ - อาเซียนเดิม 6 ประเทศ (บรูไนดารุสซาลาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย) และจีน ได้ยกเลิกภาษีสำหรับรายการสินค้าที่ต้องเสียภาษีเกือบ ทั้งหมดสำหรับสินค้าปกติ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2553 โดยสินค้าส่วนที่เหลือจะถูกลดภาษีลงภายในวันที่ 1 มกราคม 2555 ยืดหยุ่นไม่เกิน 150 รายการ สำหรับกัมพูชา สปป.ลาว พม่า และเวียดนาม จะต้องยกเลิกภาษีสินค้าภายใน 1 มกราคม 2558 แต่ได้รับการยืดหยุ่นให้ยกเลิกภาษีสินค้าได้จำนวนไม่เกิน 250 รายการ ภายในวันที่ 1 มกราคม 2561
    รายการสินค้าอ่อนไหว – สินค้ารายการนี้แบ่ง เป็นสินค้าอ่อนไหว (Sensitive List : SL) และสินค้าอ่อนไหวสูง (Highly Sensitive Lists – HSL) ซึ่งมีการลดภาษีภายในกรอบเวลาตามที่กำหนดไว้ในข้อตกลง สำหรับภาษีสินค้าอ่อนไหวจะลดลงเหลือไม่เกินร้อยละ 20 ในปี 2555และลดลงเหลือร้อยละ 0-5 ในปี 2561 สำหรับสินค้าอ่อนไหวสูง อัตราภาษีจะลดลงเหลือไม่เกิน ร้อยละ 50 ภายในปี 2558 ทั้งนี้ เขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน จะไม่มีการตัดรายการสินค้าออกและมีข้อกำหนดในเรื่องกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า ให้ใช้กฎทั่วไปว่าด้วยสัดส่วนมูลค่าเพิ่มในการผลิตภายในภูมิภาค (Regional Value Content) ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40

การค้าบริการ
    ความตกลงด้านการค้าบริการระหว่างอาเซียนและจีน ซึ่งได้ลงนามเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2550 เป็นความตกลงที่สองภายใต้กรอบความตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจอาเซียน-จีน วัตถุประสงค์หลักของความตกลงด้านการค้าบริการ คือ การเปิดเสรีและยกเลิกมาตรการกีดกัน สำหรับการค้าบริการระหว่างประเทศสมาชิกในการค้าบริการสาขาต่างๆ สำหรับการปฏิบัติตาม หลักการ GATS Plus ความตกลงด้านการค้าบริการระหว่างอาเซียน-จีน มีการระบุข้อผูกพันในการเปิดเสรีในระดับที่สูงกว่าข้อผูกพันที่ประเทศสมาชิกความตกลง GATS ของ WTO ต้องปฏิบัติตามทั้งนี้ อาเซียนและจีน ได้ลงนามข้อผูกพันการเปิดตลาดชุดที่ 1 แล้วเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2550 และอยู่ระหว่างการรอลงนามพิธีสารอนุมัติข้อผูกพันชุดที่ 2 ในช่วงการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-จีน ครั้งที่ 10 ในเดือนสิงหาคม 2554 ณ อินโดนีเซีย โดยมีเป้าหมายที่จะมีผลบังคับใช้ใน วันที่ 1 มกราคม 2555

การลงทุน
    อาเซียนและจีนได้ลงนามความตกลงด้านการลงทุน เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2551  จังหวัดกรุงเทพฯ ประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะส่งเสริมและกระตุ้นให้เกิดกระแสการลงทุนเพิ่มขึ้น ความตกลงซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2553 มุ่งที่จะสร้างบรรยากาศส่งเสริมการลงทุนให้แก่นักลงทุนทั้งจากอาเซียนและจีน ซึ่งประกอบด้วย การคุ้มครองการปฏิบัติที่เสมอภาคและเท่าเทียมกันแก่นักลงทุน การปฏิบัติที่ไม่กีดกันทางเชื้อชาติ การแสวงหาผลประโยชน์ และการชดเชยต่อการสูญเสียต่างๆ นอกจากนี้ ความตกลงนี้มีบทบัญญัติที่อนุญาตให้โอนและคืนกำไรในสกุลเงินที่ใช้ได้อย่างอิสระ รวมทั้งบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดตั้งกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างนักลงทุนและรัฐ
ซึ่งจะเป็นแหล่งช่วยเหลือในการไกล่เกลี่ยให้แก่บรรดานักลงทุน

กลไกระงับข้อพิพาท
    อาเซียนและจีนได้จัดทำความตกลงว่าด้วยกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างอาเซียนและจีนโดยความตกลงฯ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2548 ถ้าหากคู่พิพาทไม่สามารถตกลงกันได้ จะมีการแต่งตั้งคณะอนุญาโตตุลาการ เพื่อดำเนินการตัดสินโดยคำตัดสินของคณะอนุญาโตตุลาการ (Arbitration) ถือเป็นสิ้นสุดและมีผลผูกพันคู่พิพาท แต่ถ้าหากประเทศผู้ถูกฟ้องไม่สามารถปฏิบัติตามข้อเสนอแนะและคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการได้ อาจมีการชดเชยค่าเสียหายและหากไม่สามารถตกลงชดเชยค้าเสียหายได้ คณะอนุญาโตตุลาการเดิมอาจกำหนดระดับของการระงับสิทธิประโยชน์ หรือประโยชน์อื่นๆ ที่เหมาะสม

ประโยชน์ที่ได้รับ
            นับตั้งแต่ความตกลงฯ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา มูลค่าการค้าระหว่างอาเซียนกับจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การค้าและการลงทุนระหว่างจีนกับอาเซียนขยายตัวอย่างรวดเร็วและจีนกลายเป็นตลาดส่งออกและนำเข้าที่สำคัญของประเทศสมาชิกอาเซียนส่วนใหญ่ ทั้งนี้ สินค้าที่ไทยได้ประโยชน์ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เคมีภัณฑ์อินทรีย์ สารแอลบูมินอยด์ พลาสติกและของที่ทำด้วยพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาบางชนิด หนังฟอก เครื่องจักรบางชนิด และอุปกรณ์เครื่องใช้ทางการแพทย์ สินค้าส่งออกที่เพิ่มมากขึ้น ได้แก่ กรดเทเรฟทาลิก น้ำยางธรรมชาติ วงจรรวมยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง มันสำปะหลัง น้ำมันปิโตรเลียมดิบ และโพลิคาร์บอเนตการขยายตัวทางการค้า/การลงทุนระหว่างอาเซียน-จีน จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งต่อความร่วมมือภายใต้กรอบ FTA ระหว่างกันได้มากขึ้น และช่วยให้เกิดการพึ่งพากันทางด้านการค้า/การลงทุนภายในกลุ่มสมาชิก FTA มากขึ้น จนสามารถลดการพึ่งพาการค้าและการลงทุนจากประเทศพัฒนาแล้วเหมือนในอดีตและจะช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับประเทศภาคี ในการเจรจาการค้ากับประเทศพัฒนาแล้วด้วยเช่นกัน




2. ประเทศญี่ปุ่น
ชื่อทางการ : ญี่ปุ่น(Japan)
เมืองหลวง : โตเกียว(Tokyo)
พื้นที่ : 377,944ตร.กม.
ระบบการปกครอง : ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา
วันชาติ  : 11 กุมภาพันธ์
ภาษาราชการ : ภาษาญี่ปุ่น
เวลา : GMT+9เร็วกว่าประเทศไทย  2 ชม.
สกุลเงิน :  เยน (JPY)
ดอกไม้ประจำชาติ : ดอกซากุระ(Cherry Blossom)
อาหารประจำชาติ : ซูชิ(Sushi)
ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP)
ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น ซึ่งมีการลงนามเมื่อเดือนเมษายน 2551 และมีผลใช้บังคับในเดือนธันวาคมของปีเดียวกัน มีสาระครอบคลุมในประเด็นต่างๆเช่น การค้าสินค้าการค้าบริการ การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจซึ่งจะก่อให้เกิดความสมดุลทางการค้าและการลงทุนที่มีเสถียรภาพในภูมิภาคต่อไป         อาเซียนและญี่ปุ่นมีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศคิดเป็น 6.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐสำหรับปี 2553 การค้าระหว่างอาเซียนและญี่ปุ่นมีมูลค่า 213.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ
การจัดทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่นจะส่งผลให้ผู้บริโภคในอาเซียนและญี่ปุ่นมีโอกาสบริโภคสินค้าและบริการในราคาที่ต่ำลงอันเป็นผลจากการลดและยกเลิกภาษีซึ่งจะส่งผลให้คุณภาพชีวิตของประชากรทั้งสองกลุ่มดียิ่งขึ้น

การค้าสินค้า
การลดและยกเลิกภาษี ญี่ปุ่นจะต้องลดอัตราภาษีสำหรับรายการสินค้าร้อยละ 92 ของจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด และลดภาษีตามมูลค่าของการค้าสินค้าลดภาษีปกติ (Normal Track)โดยลดลงเหลือ 0 ภายใน 10 ปี หลังจากความตกลงมีผลใช้บังคับ สำหรับสมาชิกอาเซียนเดิม6 ประเทศ (บรูไนดารุสซาลาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย) และเวียดนามจะต้องลดอัตราภาษีสำหรับสินค้าลดภาษีปกติ (Normal Track) ลงเหลือ 0 ภายในเวลา 10 ปี หลังความตกลงมีผลใช้บังคับ โดยมีรายการสินค้าประมาณร้อยละ 90 ของจำนวนรายการสินค้าทั้งหมดส่วนเวียดนามจะต้องลดอัตราภาษีสำหรับรายการสินค้าร้อยละ 90 ของจำนวนรายการสินค้าทั้งหมดและลดภาษีตามสัดส่วนมูลค่าการค้าสำหรับสินค้าลดภาษีปกติ (Normal Track) ภายใน10 ปี หลังจากความตกลงมีผลใช้บังคับ สำหรับประเทศกัมพูชา สปป.ลาว และพม่า จะลดอัตราภาษีลงเหลือ 0 ภายในเวลา 13 ปี โดยมีรายการสินค้าร้อยละ 90 ของจำนวนรายการสินค้าทั้งหมดสำหรับการลดและยกเลิกภาษีสำหรับสินค้าอ่อนไหวสูง สินค้าอ่อนไหว และสินค้ายกเว้นจะมีรูปแบบที่แตกต่างกันไป นอกจากนี้สมาชิกอาเซียนและญี่ปุ่นจะมีการหารือทวิภาคีในเรื่องtariff cut โดยคำนึงถึงความอ่อนไหวของทั้งสองฝ่าย
กฏว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า กฏว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าที่กำหนดขึ้นภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น จะช่วยสนับสนุนการสะสมมูลค่าวัตถุดิบภายในภูมิภาคซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่อุตสาหกรรมอาเซียนและบริษัทต่างๆ ของญี่ปุ่นที่ประกอบการในอาเซียน เช่น มิตซูบิชิโตโยต้า เป็นต้น รวมทั้งบริษัทอิเล็กทรอนิคส์ที่ประกอบการและมีการลงทุนจำนวนมหาศาลในอาเซียน สำหรับกฏว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ความตกลงฯ มีกฎทั่วไป (General Rule) ว่าด้วยสัดส่วนมูลค่าเพิ่มในการผลิตภายในภูมิภาค (Regional Value Content) ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40หรือการเปลี่ยนแปลงพิกัดอัตราศุลกากรในระดับ 4 หลัก (CTH - Change in Tariff Heading) ซึ่งเป็นการยืดหยุ่นให้แก่ผู้ส่งออกและผู้ผลิตในการเลือกกฎเกณฑ์ที่จะนำไปใช้และขยายโอกาสในการทำตามกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าเพื่อใช้ประโยชน์จากการให้สิทธิพิเศษทางศุลกากร

การบริการและการลงทุน
การเจรจาด้านการบริการและการลงทุนเริ่มต้นการเจรจาอย่างเป็นทางการในเดือนมีนาคม 2554 และมีเป้าหมายจะสรุปการเจรจาภายในปี 2555

กลไกระงับข้อพิพาท
ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น ได้บรรจุบทบัญญัติเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทเพื่อแก้ปัญหาในกรณีเกิดข้อพิพาทเกี่ยวกับการตีความข้อตกลงการค้าสินค้า (TIG)

ประโยชน์ที่ได้รับ
ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น จะทำให้นักลงทุนจำนวนมากหลั่งไหลสู่อาเซียน ซึ่งคาดการณ์ว่าจะช่วยลดความแตกต่างทางเศรษฐกิจระหว่างประชากรในอาเซียนและญี่ปุ่นซึ่งมีจำนวนรวมกว่า 711 ล้านคน ทั้งนี้ มูลค่า FDI จากญี่ปุ่นในอาเซียนตั้งแต่ปี 2545-2551 คิดเป็นมูลค่า 45 พันล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะมีมูลค่าสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องพร้อมไปกับการดำเนินการต่างๆ ตามความตกลงฯ




3. ประเทศเกาหลีใต้
ชื่อทางการ : สาธารณรัฐเกาหลี (Republic of Korea)
เมืองหลวง : โซล(Seoul)
พื้นที่ : 98,480 ตร.กม.
ระบบการปกครอง : ประชาธิปไตยระบอบกึ่งประธานาธิบดี
วันชาติ  :  3 ตุลาคม
ภาษาราชการ : ภาษาเกาหลี
เวลา : GMT+9เร็วกว่าประเทศไทย 2 ชม.
สกุลเงิน : วอน (KRW)
ดอกไม้ประจำชาติ : ดอกมูกุงฮวา(Rose of Sharon)
อาหารประจำชาติ : กิมจิ(Kimchi)
เขตการค้าเสรีอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี (AKFTA)

 สาธารณรัฐเกาหลี เป็นประเทศที่สองที่เป็นคู่เจรจาเขตการค้าเสรีกับอาเซียน โดยในปี 2548 อาเซียนและสาธารณรัฐเกาหลีได้ลงนามกรอบความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่าง ครอบคลุมระหว่างอาเซียนและสาธารณรัฐเกาหลี (Framework Agreement on Comprehensive Economic Cooperation: FA) รวมทั้งความตกลงอีก 4 ฉบับเพื่อจัดตั้งเขตการค้าเสรี โดยในปี 2552 สาธารณรัฐเกาหลีเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญอันดับที่ 5 ของอาเซียนโดยมีมูลค่าการค้าระหว่างกันเท่ากับ 74,700 ล้านเหรียญสหรัฐและมูลค่าการลงทุนทางตรงจากสาธารณรัฐเกาหลีมายังอาเซียนเท่ากับ 1,400 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2553 อาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี มูลค่าการค้าระหว่างกันเท่ากับ 97,294.22 ล้านเหรียญสหรัฐ

การค้าสินค้า
ความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้าอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี (AK-TIG) มีการลงนามเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2549 โดยให้สิทธิพิเศษทางด้านการค้าสินค้าระหว่างประเทศภาคีอาเซียน 10 ประเทศและสาธารณรัฐเกาหลี ได้แก่ การลดและยกเลิกภาษีระหว่างกัน โดยในวันที่ 1 มกราคม 2553 อาเซียน 5 ประเทศ (บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์) และสาธารณรัฐเกาหลีได้มีการยกเลิกภาษีสินค้าในกลุ่ม Normal Track ลงเกือบร้อยละ 90
สำหรับประเทศสมาชิกใหม่ของอาเซียน ได้แก่ เวียดนาม กัมพูชา สปป.ลาว และพม่า จะมีระยะเวลาการปรับตัวนานกว่า เนื่องจากมีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจไม่เท่ากับอาเซียนอื่น สำหรับเวียดนาม  สินค้า Normal Track อย่างน้อยร้อยละ 50 จะลดภาษีลงเหลือร้อยละ 0-5 ภายใน 1 มกราคม 2556  และเพิ่มเป็นร้อยละ 90 ภายใน 1 มกราคม 2559 สำหรับกัมพูชา สปป.ลาว และพม่า (CLM) สินค้าNormal Track อย่างน้อยร้อยละ 50 จะลดภาษีลงเหลือร้อยละ 0-5 ภายใน 1 มกราคม 2558  และเพิ่มเป็นร้อยละ 90 ภายใน 1 มกราคม 2561 ซึ่งภายในปี 2560 และ 2563 สินค้าในกลุ่มNormal Track ของเวียดนาม กัมพูชา สปป.ลาว และพม่าจะมีการเปิดตลาดอย่างสมบูรณ์โดยมีอัตราภาษีร้อยละ 0 ในส่วนของประเทศไทยที่มีการลงนามในความตกลงฯ เมื่อปี 2550 นั้น อัตราภาษีสำหรับสินค้าใน Normal Track จะค่อยๆ ลดลงจนกระทั่งยกเลิกภายในปี 2559 และ 2560

การค้าบริการ
ความตกลงว่าด้วยการค้าบริการอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี (AK-TIS) มีการลงนามเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2550 เพื่อส่งเสริมการเปิดตลาดและเพิ่มความสามารถในการเข้าตลาดของผู้ให้ บริการอาเซียนและสาธารณรัฐเกาหลีซึ่งความตกลงฯ จะผูกพันการเปิดตลาดในระดับที่สูงกว่า ความตกลงด้านการค้าบริการ (GATS) ภายใต้กรอบขององค์การการค้าโลก (WTO) โดยจะครอบคลุมถึงสาขาต่างๆ ที่อยู่ในภาคบริการมากขึ้น รวมทั้งมีการผ่อนคลายกฎระเบียบในการเข้าตลาดและวิธีปฏิบัติเช่น ภาคธุรกิจ การก่อสร้าง การศึกษา การสื่อสาร สิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยวและการคมนาคม เป็นต้น

การลงทุน
ความตกลงว่าด้วยการลงทุน (AK-AI) มีการลงนามเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2552 โดยมีเป้าหมายเพื่อเปิดเสรีด้านการลงทุน อำนวยความสะดวก สร้างความโปร่งใสและบรรยากาศในการลงทุนที่มีความปลอดภัย สาระสำคัญของความตกลงฯ คือ การคุ้มครองการลงทุนระหว่างอาเซียนและสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งรวมถึงการปฎิบัติที่เป็นธรรม การเคลื่อนย้ายเงินทุนที่ได้รับการคุ้มครองตลอดจนการชดเชยในกรณีที่มีเหตุการณ์ไม่สงบหรือมีการเวนคืนของรัฐ ความตกลงว่าด้วยการลงทุน(AK-AI) นี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2552 อย่างไรก็ตามการเจรจาจะยังคงดำเนินต่อไปเนื่องจากอาเซียนและสาธารณรัฐเกาหลีต้องการบรรลุวาระสืบเนื่อง (built-in agenda items) ในเรื่องการพัฒนาข้อผูกพันในการเข้าสู่ตลาด (the development of market access commitments)หรือ ตาราง ข้อสงวน (schedules of reservations) โดยจะมีการสรุปการหารือในเรื่องดังกล่าวภายใน 5 ปีนับจากวันที่ความตกลงมีผลใช้บังคับ

กลไกการระงับข้อพิพาท
ความตกลงว่าด้วยกลไกการระงับข้อพิพาท (Agreement on Dispute Settlement Mechanism : DSM) มีการลงนามเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2548 เพื่อเป็นกลไกสำหรับระงับข้อพิพาทต่างๆ ของประเทศภาคีที่อาจเกิดจากการตีความและการใช้บังคับความตกลงต่างๆ ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี

ประโยชน์ที่จะได้รับ
          ความตกลงอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี จะเป็นประโยชน์ในด้านรักษาศักยภาพในการส่งออกของอาเซียนในตลาดเกาหลี โดยเฉพาะการแข่งขันกับอาเซียนอื่นและประเทศที่สามที่ได้จัดทำ FTA กับสาธารณรัฐเกาหลีแล้ว
การดึงดูดนักลงทุนเกาหลีให้ย้ายฐานการผลิตและการลงทุนมาอาเซียนมากขึ้นและเพิ่มโอกาสในการเจรจาลดอุปสรรคมาตรการที่มิใช่ภาษี เช่น มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) และอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (TBT) เป็นต้น






อ้างอิง : https://sites.google.com/a/web1.dara.ac.th/daraasean/3-khwam-samphanth-xaseiyn-kab-khu-cerca/xaseiyn-3-6

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น